วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

พืชหัตถกรรม





พืชที่ใช้ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
กลุ่มชนพื้นบ้านใช้พืชเป็นวัตถุดิบในงานจักสาน หรือทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรเครื่องมือจับหรือดักสัตว์ และภาชนะใช้สอยในครัวเรือน สำหรับไว้ใช้สอยเท่าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน เครื่องมือหรือภาชนะเหล่านั้นจะมีลักษณะเฉพาะถิ่นที่บ่งบอกถึงงานฝีมือของกลุ่มชนต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างมีการผลิตอย่างประณีตหรือมีลวดลายสวยงาม อันเป็นงานฝีมือพื้นบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดต่อกันมาหลายรุ่น เครื่องใช้หรือภาชนะพื้นบ้านบางอย่างได้กลายมาเป็นของใช้สำหรับคนชั้นสูง
เครื่องมือเครื่องใช้หรือภาชนะที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น เช่น กระเป๋าและตะกร้าย่านลิเภาของจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้เฟินเถาของสกุลย่านลิเภา (Lygodium) เสื่อกระจูดหรือสาดกระจูดของภาคใต้ใช้ต้นของกระจูด (Lepironia articulata) "หมาหรือหมาจาก" เป็นภาชนะตักน้ำในบ่อทางภาคใต้ ทำด้วยกาบหมากของต้นหมาก(Arecacatechu) หรือกาบของต้นหลาวชะโอน (Oncosperma tigillaria) ส่วนภาชนะตักน้ำในบ่อทางภาคเหนือเรียก "น้ำถุ้งหรือน้ำทุ่ง" สานด้วยไม้ไผ่แล้วยาด้วยชันและน้ำมันยาง มีไม้ไขว้กันด้านบนตรงปากสำหรับเกี่ยวขอ ไม้ไผ่บางชนิดที่ลำขนาดใหญ่ปล้องยาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕-๒๕ เซนติเมตร มักจะถูกนำมาใช้เป็นกระบอกบรรจุน้ำขนถ่ายน้ำ หรือใช้ในระบบประปาจากแหล่งน้ำธรรมชาติตามหมู่บ้านชาวเขาทางภาคเหนือ เช่น ไผ่หก (Dendrocalamus hamiltonii) ไผ่บงใหญ่ (Dendrocalamus brandisii) ไผ่เป๊าะ(Dendrocalamusgiganteus) และไผ่ซางดอย (Dendrocalamusmembranaceus) ไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติอเนกประสงค์ ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้และงานจักสานหลายประเภท ประเภทที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค เช่น ก่องข้าวหรือกระติบข้าว แอบข้าว แอบยา แอบหมาก ตะกร้า กระบุง กระทาย กระเหล็บ กะโล่ ฯลฯ ประเภทที่ใช้ในการจับดักสัตว์ เช่น ลอบ ไซ เอ๋อ ข้องลอยหรือข้องเป็ด อีจู้ สุ่ม ตุ้มปลาไหล ฯลฯ ประเภทที่ใช้เกี่ยวกับประเพณีความเชื่อและศาสนา เช่น ก๋วยน้อย ก๋วยหลวง ตานสลาก เฉลว เป็นต้น[กลับหัวข้อหลัก]
เฉลว

พืชกับศิลปะไทยโบราณ
กลุ่มชนพื้นบ้านรู้จักคิดค้นนำเอาลักษณะและโครงสร้างของพืช มาเป็นจุดกำเนิดของลวดลายประดิษฐ์จากพืชหรือดอกไม้ไทยหลายชนิดแต่ครั้งโบราณ ดังปรากฏอยู่ในลวดลายโบราณของผ้าไทหรือเครื่องแกะสลัก ลวดลายประดิษฐ์บางลายนิยมนำมาใช้กัน จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยถึงปัจจุบัน ลวดลายประดิษฐ์จากพืชหรือดอกไม้ไทย เช่น ลายกลีบบัวหลวง กลีบบัวลายไทย ลายบัวหงายและบัวคว่ำ ลายดอกลำดวน ลายดอกพิกุล ลายดอกมะลิ ลายดอกสายหยุด ลายดอกรัก ลายดอกจันทน์ ลายกาบไผ่ ลายใบไผ่ และ ลายดอกหญ้า[กลับหัวข้อหลัก]
เฉลว

พืชอเนกประสงค์

หมายถึง พืชที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งในด้านการบริโภค อุปโภค พิธีกรรม และความเชื่อถือของกลุ่มชนพื้นบ้าน พืชพื้นบ้านอเนกประสงค์มีมากมาย เช่น พลวง (Dipterocarpus tuberculatus) ชันไม้ที่ได้จากการเจาะต้น ใช้ยาแนวไม้ ยาแนวเรือและทำไต้ ไม้ ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างในร่ม ทำแจว พาย ครก สาก กระเดื่อง กังหันน้ำ กระเบื้องไม้ ฯลฯ ราก นำมาต้มกินแก้ตับอักเสบ ใบ ใช้เผาไฟแทรกน้ำปูนใสกินแก้บิด และถ่ายเป็นมูกเลือด ทางภาคเหนือใช้ใบแก่ที่เรียกว่า "ตองตึง" เย็บเป็นตับใช้มุงหลังคาและทำฝา ใช้ห่อยาสูบ และห่อของสดแทนใบกล้วย พะยอม (Shorea roxburghii) ชันไม้และไม้ ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับพลวง ไม้ใช้ทำเรือขุดและต่อเรือได้ดี ทนเพรียง เปลือก ใส่กันบูด มีรสฝาดกินกับพลูแทนหมาก ใช้เป็นยาสมานลำไส้แก้ท้องเดิน ให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง ดอก ใช้ผสมยาแก้ไข้และยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ ดอกอ่อน ใช้ผัดกับไข่หรือชุบไข่ทอด ส้มป่อย (Acacia concinna) ใบอ่อน ใช้เป็นเครื่องปรุงชูรส ใส่แกงหรืออาหารอื่นเพื่อให้รสเปรี้ยวขึ้น ใบอ่อนต้มคั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้ง กินเป็นยาขับปัสสาวะ ผล ใช้บดแล้วต้มนำน้ำมาใช้เป็นยาสระผม ซึ่งชนพื้นเมืองเชื่อว่าจะนำโชคดีมาสู่ตนและยังใช้น้ำจากฝักส้มป่อยรดน้ำในพิธีสงกรานต์ของไทย เสม็ด (Melaleuca cajuputi) เปลือก ทำประทุนเรือกันแดดและฝน หรือใช้มุงหลังคาบ้านชั่วคราว นำเปลือกมาชุบน้ำมันยางมัดทำเป็นไต้ เสม็ด ติดไฟได้ดี ใบ กลั่นได้น้ำมันเขียวหรือน้ำมัน เสม็ด ใช้ทาแก้เคล็ด เมื่อย ปวดบวม และใช้เป็นยาฆ่าแมลง ใบและเปลือก ใช้ฟอกแผลกลัดหนอง เพื่อดูดหนองให้แห้ง ไม้ ใช้ทำฟืนและถ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น