วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

กระเทียม


กระเทียม ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum Linn. วงศ์ Alliaceae พืชล้มลุก สูง 40 – 80 ซม. มีหัวใต้ดิน (bulb) แบ่งเป็นกลีบเล็กๆ ได้หลายอันแต่ละกลีบมีกาบใบแห้งๆ หุ้มไว้ในลักษณะแคบยาว กว้าง 1.2-5 ซม. ยาว 30-60 ซม. ปลายแหลม ดอกช่อ แทงออกจากลำต้นใต้ดินดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 6 อัน มีสีชมพู่ ผลแห้ง แตกได้สามารถปลูกได้ทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระเทียมเป็นที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์แผนโบราณมาช้านานแล้ว นอกจากจะใช้ประกอบอาหารแล้ว ยังมีคุณค่าในการรักษาและป้องกันโรคได้หลายโรคอย่างมีประสิทธิภาพ มีรายงานวิจัยหลายฉบับชี้ให้เห็นว่ากระเทียมมีฤทธิในการรักษาและป้องกันโรคได้ดี นอกเหนือจากใช้เป็นยาขับลมและรักษากลากซึ่งใช้กันมานานแล้ว กระเทียมสามารถลดปริมาณ โคเลสเตอรอลในเลือดได้ มีนักวิจัยได้ทดลองใช้กระเทียมลดปริมาณโคเลสเตอรอลทั้งในสัตว์ทดลองและในคนกันอย่างมากมาย สรุปได้ว่ากระเทียมสด,สารสกัดกระเทียมด้วยแอลกอฮอล์,กระเทียมผง และน้ำมันหอมระเหยจากกระเทียม มีฤทธิ์ทั้งรักษาและป้องกันไม่ให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงได้เป็นอย่างดี สรรพคุณ 1. รักษาและป้องกันไม่ให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง วิธีใช้ ในคนไข้ที่มีระดับโคเลสเตอรอล ในเลือดสูงและคนไข้โรคหัวใจ ให้กระเทียมสดครั้งละ 5 กรัม วันละ 3 เวลา พร้อมอาหารหรือหลังอาหารเป็นเวลา 1เดือน ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดจะลดลงอย่างชัดเจน และเมื่อระดับไขมัน ในเลือดอยู่ในระดับปกติแล้วให้รับประทานเหลือเพียงวันละ 5 กรัมก็จะสามารถรักษาระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ให้ปกติได้ตลอดไป แต่ถ้าหยุดไป 1 เดือน ระดับโคเลสเตอรอลจะสูงขึ้นมาอีก ในคนปกติถ้าได้รับกระเทียมวันละ 5 กรัม ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจะลดลงเพียงเล็กน้อย การใช้กระเทียมสดนั้นดีที่สุด แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบรับประทานกระเทียมสดอาจใช้ กระเทียมผง สารสกัดกระเทียม หรือน้ำมันระเหยที่บรรจุแคปซูล ซึ่งมีขายในท้องตลาด โดยใช้ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 เวลาหลังอาหารก็ได้ 2. หัวกระเทียมมีฤทธิ์ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดอุดตันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยกระเทียมมีคุณสมบัติ ลดการจับตัวของเกร็ดเลือด และเพิ่มการสลายไฟบริน สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ เมทิลแอลิล ไตรซัลไฟด์ ( Methyl allyl trisulfide) และ กระเทียมยังมีฤทธิ์สลายไฟบริน ด้วย วิธีใช้ เช่นเดียวกับการลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด 3. หัวกระเทียมมีฤทธิ์ลดความดันเลือด ได้มีการวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในคนโดยนักวิจัยหลายกลุ่มแล้วพบว่า กระเทียมสด กระเทียมผง และสารสกัดกระเทียมด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์ (สารคนละชนิดกับที่ออกฤทธิ์ลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน) มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ วิธีใช้ เช่นเดียวกับการลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด 4. หัวกระเทียมมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ อัลลิซิน (allicin) โดยใช้กระเทียมสด กระเทียมผง สารสกัดกระเทียมด้วยแอลกอฮอล์ หรือคลอโรฟอร์ม มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองที่ถูกทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ วิธีใช้ เช่นเดียวกับการลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด หัวกระเทียมมีฤทธ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ได้มีการวิจัยแล้วพบว่า กระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก โรคลิ้นเป็นฝ้าขาว โดยสารที่ออกฤทธิ์คือ "อัลลิซิน" วิธีใช้ ใช้หัวกระเทียมสดฝานทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ 6. ใช้รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ซึ่งเป็นผลจากสารสำคัญต่างๆ ในน้ำมันหอมระเหย ช่วยต้านการเกิดแผลในกะเพาะอาหาร โดยมีกลไกการออกฤทธิ์เกี่ยวข้องการสร้างสาร Prostaglandin ตามธรรมชาติ allicin มีในหัวกระเทียมน้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ในรูป alliin เมื่อหั่นกระเทียม อากาศจะทำให้เอนไซม์ alliinase ย่อย alliin ให้เป็น allicin ซึ่งเป็นสารที่ไม่คงตัว สลายตัวได้ง่ายโดยเฉพาะยิ่งถูกความร้อน ดังนั้นกระเทียมเจียว กระเทียมดอง จะไม่มีผลเป็นยา การทดลองทางคลินิกต่อฤทธิ์ขับลมโดยให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดสารสกัดกระเทียม 0.64 กรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารกลางวันและเย็น ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ วิธีใช้ ใช้กระเทียม 5-7 กลีบ ซอยละเอียดรับประทานหลังอาหารทุกมื้อ ในกระเทียมสดจะมีสารสำคัญครบทุกชนิดจะดีกว่าการใช้สารสกัดกระเทียม กระเทียมผง หรือน้ำมันหอมระเหย ฉะนั้นถ้ารับประทานกระเทียมสดในลักษณะอาหารเสริมสุขภาพจะดีที่สุด กระเทียมถ้าเก็บไว้นาน หรือใช้ความร้อนในการปรุงเป็นอาหาร สารที่ออกฤทธิ์จะถูกทำลายไปบ้าง ดังนั้นการรับประทานกระเทียมสดจะดีที่สุด ข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานกระเทียมสด ๆ ขณะท้องว่าง เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและ ลำไส้ได้ ควรรับประทานไปพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น